MOC 100 Years
TH    EN
Call center 02-507-7717 Call center 02-507-7717
otmwebmaster@moc.go.th srmocthailand@gmail.com
ข่าวประชาสัมพันธ์
Master Template : ข่าวประชาสัมพันธ์
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2023 ที่สุดของงานแฟร์ที่รวมสินค้าไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรจากผู้แสดงสินค้าและผู้ประกอบการรุ่นใหม่กว่า 500 บริษัท 1,000 คูหา พร้อมด้วย นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆประจำประเทศไทย และผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน สภาและสมาคมไทย ที่ Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

          ภายในงาน นายจุรินทร์ กล่าวว่า งาน STYLE Bangkok จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 หลังจากลดขนาดเป็นงานขนาดเล็กมา 3 ปีต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด งานวันนี้จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจับมือร่วมกัน สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประการที่หนึ่ง อุตสาหกรรมนี้มีเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี เกินกว่า 90% ประการที่สอง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากกว่า 1,000,000 คน ประการที่สาม อุตสาหกรรมที่สามารถสร้างเงินให้ประเทศไทยมหาศาล การส่งออกปี 2565 สร้างเงินให้ประเทศถึง 450,000 ล้านบาท ขยายตัว 16.5% เดือน ม.ค. ปี 66 สร้างเงินให้ประเทศแล้ว 30,000 ล้านบาท ตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีนเวียดนาม อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ

ประการที่สี่ สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นไทยถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก มีจุดเด่นการออกแบบอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นซอร์ฟพาวเวอร์ร่วมสมัย มีศักยภาพทำเงินให้ประเทศไทยมหาศาลในอนาคต ตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับในภูมิภาค ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นต่อไปในอนาคต

          “งานแสดงสินค้า  STYLE Bangkok 2023 มีหลายกิจกรรม จัดงานแสดงสินค้ามีผู้ประกอบการร่วม 1,000 คูหา สร้างเวทีสำคัญให้มีการเจรจากันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่างานนี้งานเดียวสร้างเงินให้ประเทศไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท และจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งด้านการผลิต การตลาดและการออกแบบ แลกเปลี่ยนอัตลักษณ์ระหว่างประเทศของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทยให้สอดคล้องกับรสนิยมตลาด คงอัตลักษณ์ ความเป็นไทยไว้ และที่สำคัญงานนี้จะเป็นการสร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอีไทย มีโอกาสโกอินเตอร์ต่อไปอนาคต” นายจุรินทร์กล่าว

          ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่างาน STYLE Bangkok 2023 จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค. 2566 ที่ชั้น G ฮอลล์ 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเปิดวันเจรจาธุรกิจ วันที่ 22-24 มีนาคม 2566 เวลา 10.00-18.00 น. และเปิดจำหน่ายปลีกสำหรับประชาชนทั่วไปในวันที่ 25-26 มีนาคม 2566 เวลา 10.00-21.00 น. สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stylebangkokfair.com, IG/Facebook : STYLE Bangkok Fair


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ ปี 2566 ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ ปี 2566 รองรับผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3% ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์

          โดยในปี 2566 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้กว่า 700,000 ตัน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ผลักดัน แบ่งเป็น 4 ด้าน 22 มาตรการดูแลผลไม้ ได้แก่ การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย ประกอบด้วย

          มาตรการที่ 1 เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

          มาตรการที่ 2 ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 100,000 ตัน

          มาตรการที่ 3 ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 90,000 ตัน 

          มาตรการที่ 4 สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน 

          มาตรการที่ 5 ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน

          มาตรการที่ 6 รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 42,000 ตัน 

          มาตรการที่ 7 สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 300,000 กล่อง หรือ 3,000 ตัน 

          มาตรการที่ 8 อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงอบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย 

          มาตรการที่ 9 ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน 

         มาตรการที่ 10 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยกและขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน

         มาตรการที่ 11 เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลล์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ 

          มาตรการที่ 12 ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก 

          มาตรการที่ 13 เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้ กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน

          มาตรการที่ 14 เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้กิโลกรัมละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน

          มาตรการที่ 15 เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่ 

มาตรการที่ 16 จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits  Golden Months การขายผ่าน TV Shopping  

           มาตรการที่ 17 ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD 

          มาตรการที่ 18 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น Country Brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย 

          มาตรการที่ 19 จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค 

          มาตรการที่ 20 มุ่งเจรจาผ่านคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า

          มาตรการที่ 21 ตั้งวอรูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงานแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV

          มาตรการที่ 22 ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 8.00 น. หรือทันทีที่เปิดทำการรับซื้อ  กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดยังคงบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัด

          ซึ่งผลการประชุมวันนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญได้เห็นด้วยกับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 66 เชิงรุกทั้ง 22 มาตรการ ซึ่งครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญและตรงจุด ซึ่งเกษตรกรและภาคเอกชน ยินดีให้ความร่วมมือกันขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว จะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการตลาดในประเทศและเพิ่มปริมาณ-มูลค่าการส่งออก ทำให้ราคาผลไม้ให้ดีตลอดทั้งฤดูการผลิตนี้ โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม นายพสิษฐ์  สุขสวัสดิ์ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง จ.ลำพูน เห็นว่า อมก๋อยโมเดลที่นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้เกษตรกรมีทางเลือกไม่ถูกกดราคา และนายธนกฤต  ตันวัฒนากูล นายกสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ กล่าวว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยเหลือให้โรงอบมีศักยภาพในการอบแห้ง ทำให้ราคาตลอดทั้งฤดูอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,200-1,400 บาท/ราย หรือคิดเป็นมูลค่า 1,440 ล้านบาท ด้านนายสุวิทย์  รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวชื่นชมนายจุรินทร์ ที่ได้เดินทางไปตะวันออกกลาง เจรจาอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ในสามารถบรรลุข้อตกลงและนำมาขับเคลื่อนจนเป็นผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรวดเร็ว ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยในปี 65 ไปตะวันออกกลางและแอฟริกาขยายตัวขึ้น เป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการขยายตลาดผลไม้ และนายไพบูลย์  วงศ์โชติสถิต ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ได้กล่าวถึงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 65 ของกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผลไม้ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก มีกำลังใจและมั่นใจว่ามีภาครัฐที่พร้อมจะดูแลแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด จึงขอให้คงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป

          ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยการนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ทำงานเชิงรุก ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนบริหารจัดการผลไม้ผ่าน 18 มาตรการเชิงรุก รวมทั้งแก้อุปสรรคการส่งออก การปิดด่าน เร่งรัดส่งออกจับคู่ส่งผลไม้ออกนอกประเทศ ส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาผลไม้ในประเทศ ปริมาณผลไม้ส่งออกเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้ ทำให้ราคาผลไม้ปี 2565 เกือบทุกชนิดสูงกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงขึ้น 44% เช่น ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 142.50 บาท/กก. ลำไย ช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาท/กก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. ลองกองเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ชื่นชมต่อมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 65 โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) ผ่านระบบ VC เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่ง FTA ไทยกับสหภาพยุโรป หลังจากที่นายจุรินทร์ได้เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเจรจาทำ FTA ระหว่างไทย-อียู สองฝ่าย เกิดจากความพยายามของไทยกับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปี แต่ติดขัดช่วงที่ผ่านมา ครั้งหลังสุดตนนำคณะเดินทางไปพบกับท่านวัลดิส ดอมบรอฟสกิส  รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันนำไปดำเนินการภายในทั้ง 2 ฝ่าย ตนได้นำเรื่องเห็นชอบผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วันนี้ตนได้พบกับท่านดอมบรอฟสกิสอีกครั้ง ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำ FTA ไทย-อียู ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี คือปี ค.ศ.2025 หรือ พ.ศ.2568  หัวข้อทั้งเรื่องการค้าสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการจัดทำ FTA ครั้งนี้ 

          ที่ชัดเจนสำหรับไทย 1.เมื่อมีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น 2.ภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการหลายด้าน เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิตอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น 3.การนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็นศูนย์เช่นเดียวกัน ภาคการผลิตของเราจะลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ 4.การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5. จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพิ่มตัวเลขการลงทุน เพิ่มจีดีพีให้ประเทศ 6.ทำให้ไทยเพิ่มจำนวน FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ

          จะเพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่สหภาพยุโรป 27 ประเทศตกลงทำ FTA ด้วย (มีเวียดนามและสิงคโปร์ ที่มี FTA กับอียูแล้ว)

          “โดยสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500,000,000 คน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2566 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท การทำ FTA กับอียู ที่ได้นับหนึ่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไทยและกับอียูเช่นเดียวกันในหลากหลายมิติ ถัดจากนี้จะเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อประเทศไทยจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน ฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจะลงนามบังคับใช้ได้  คือการสร้างเงิน สร้างอนาคตครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งให้กับประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว RCEP ก็จบในยุคที่ตนกับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ทำหน้าที่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ยุคนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว


 


ชมข้อมูล
image



         นายซูซูกิ โยชิฮิสะ (SUZUKI Yoshihisa) และดร.ซูซูกิ จุน (SUZUKI Jun) ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น–ไทย (Japan –Thailand Trade and Economic Committee) ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และคณะ เข้าหารือยุทธศาสตร์การค้า และนโยบายขยายการลงทุนของไทย กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี 

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ที่เรียกว่า เคดันเรน ได้นำคณะหารือกับตน ในความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับไทย เพราะญี่ปุ่นมาลงทุนในอาเซียน 14,846 บริษัท ซึ่งมาลงทุนในไทยถึง 6,000 บริษัท ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรามาก และไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนกับสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่าการค้าร่วมกันถึง 2 ล้านล้านบาท และไทยส่งออกไปญี่ปุ่นปีที่แล้ว 8.55 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งของไทย

          ประเด็นที่หารือวันนี้คือความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนของ 2 ฝ่าย สำหรับระดับทวิภาคี มีกรอบ  JTEPA  (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์ในการลดภาษี เปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนระหว่างกัน ในระดับพหุภาคี ไทยกับญี่ปุ่น เป็นสมาชิก RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งปัจจุบันเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไทย-ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าขับเคลื่อน RCEP ด้วยกันให้ได้รับประโยชน์ทางการค้าการลงทุนสูงสุด และมีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนสำคัญ และยังมีเอเปคที่เป็นสมาชิกร่วมกัน

เรามีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี และตนเชิญญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย

          “ เรามีทั้ง EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นสามารถเลือกลงทุนในไทยได้โดยสิทธิพิเศษ BOI (Board of Investment หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จะเป็นกลไกหลักให้ความดูแลสนับสนุน และญี่ปุ่นมองว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญทางการผลิตและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตให้กับญี่ปุ่นต่อไปในอนาคตนอกจากจีน ทั้งเรื่องอาหาร อุตสาหกรรมและอื่นๆที่เกี่ยวข้องซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าไก่จากเราอันดับ 1 ปีละกว่าสามแสนตัน รวมทั้งวัตถุดิบชีวภาพเอาไปทำพลังงานในญี่ปุ่น เป็นต้น  จากนี้ทางญี่ปุ่นจะมาประชุมกับ กกร.ของไทย(คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) จะเป็นประโยชน์ในความส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอกชนไทยกับญี่ปุ่นนอกจากภาครัฐที่มาพบตนวันนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน Andaman Craft Festival ที่สวนเฉลิมพระ เกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) และตรวจเยี่ยมโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน บริเวณถนนคนเดิน ตลาดใหญ่ จ.ภูเก็ต 

          ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน “Andaman Craft Festival” เปิดเผยว่า  ซอฟพาวเวอร์ ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น คือ ศิลปะหัตถกรรม วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของความเป็นเรา และความเป็นชาติ ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก จากการจัดอันดับของสถาบันระหว่างประเทศจัดประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียและสิงคโปร์ซอฟพาวเวอร์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศไทย ครอบคลุมใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5F ได้แก่ Food อาหารไทย, Film ภาพยนตร์และละครไทย , Fashion การออกแบบแฟชั่นไทยและผ้าไทย , Fighting ศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย ลำดับของเราจะดีขึ้นถ้าเราให้การส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลกต่อไปในอนาคต งานวันนี้เป็นงานของสถาบันส่งเสริมศิลปะหัตถกรรมไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ตนมอบนโยบายให้ดึงเสน่ห์ ภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกับศักยภาพด้านซอฟพาวเวอร์ของความเป็นไทยให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกมากยิ่งขึ้น วัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้เป็นวัสดุปกรณ์ที่ร่วมสมัยนำมาใช้ในชีวิตจริงได้มากขึ้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ในปี 2565 ที่ผ่านมาซอฟพาวเวอร์ไทยทุกด้านสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ถึง 1.45 ล้านล้านบาท การจัดงาน Andaman Craft Festival ในวันนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งนอกจากสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติแล้ว จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าซอฟพาวเวอร์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป

          และวันนี้ตนได้นำกรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัด จัดพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชนเพิ่มในงานวันนี้ด้วย มีสินค้าหลายหมวดลดราคาสูงสุดถึง 60% จะมีส่วนช่วยทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากชมซอฟพาวเวอร์ของงานในวันนี้แล้วยังสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าในราคาประหยัดได้ต่อไป

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับไฮไลต์ที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ของงาน เมื่อ “บัวขาว บัญชาเมฆ” ถ่ายทอดพลัง “Soft Power” ผ่าน “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” เป็นกางเกงมวยที่งดงามและวิจิตรมาก สร้างสรรค์ขึ้นจากผ้าไหมสีดำนิลผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหมแบบโบราณฝีมือชั้นครู สง่างามและหาชมได้ยากยิ่ง ส่วนที่เรียกเสียแฟลช คือแฟชั่นโชว์ชุดฟินาเล่ของ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่ขึ้นสวมมงกุฎสะบัดผ้าไทยเรียกเสียงปรบมือกึกก้อง โดยในปี 2566 นี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายัง จ.ภูเก็ต มากถึง 12 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยอีก 4 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เป็นของขวัญ ของฝากและของที่ระลึก ทั้งภายในงานเองและตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย โดยเฉลี่ยคนละ 600 บาท ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 นี้จะสามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดสินค้าของขวัญของที่ระลึกในจังหวัดภูเก็ตเกิดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดการอบรม Kick off โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From GenZ to be CEO) ประจําปี 2566 ซึ่งมีเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ Gen Z ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 

          ภายในงานนายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการ CEO Gen Z เป็นนโยบายที่ตนมอบเป็นให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบัน NEA (สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่) เป็นผู้ดำเนินการ ต้องการปั้น Gen Z ให้เป็น CEO เพราะเด็กรุ่นใหม่น้อยคนที่อยากเป็นพนักงานองค์กร บริษัท ส่วนใหญ่อยากเป็นนายตัวเองก็ต้องมีธุรกิจตัวเอง ซึ่งเรียนในมหาวิทยาลัยก็ดีแล้ว แต่โครงการนี้จะเป็นโครงการพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ให้ความรู้เชิงลึกบวกกับภาคปฏิบัติ มีผู้ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จเป็น CEO ตัวจริง บริษัทระดับประเทศให้ความรู้ ให้เรียนจบแล้วสามารถนับหนึ่งเป็น CEO ได้อย่างถูกทิศทาง 

          หลักสูตรเช่น การบริหารธุรกิจ การตลาดอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ การค้าออฟไลน์และ ตลาดออนไลน์ วิชาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิชาการส่งออกภาคปฏิบัติเบื้องต้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับอนาคตและน้องที่เรียนในวิทยาลัยอาชีวะหรือภาควิชาชีพมีหลักสูตรพิเศษเพิ่ม ลงลึกการผลิต การตลาด การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับการเกษตรการประมง สมาร์ทฟาร์ม ออร์แกนิค และสินค้าอาหารแห่งอนาคต 

          “โครงการนี้ทำมา 4 ปี มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมทั่วประเทศถึง 110 สถาบัน และ 3 ปีที่ผ่านมา ผลิต CEO Gen Z แล้วถึง 36,500 คน และปีนี้มาเริ่มเปิดโครงการที่นี่ โดยจัดทั้งหมด 13 รุ่น ตั้งเป้าทั้งปีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ครบ 4 ปี จะมี CEO Gen Z ให้ประเทศไทย 46,500 คน สำหรับปีนี้จะเริ่มเรียนตั้งแต่ มีนาคมถึงมิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน และผู้ที่ได้คะแนน 500 คนแรก จะมี รางวัลพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับน้องที่ประสบความสำเร็จและ 100 คนแรกได้รับโอกาสฝึกงานเป็นกรณีพิเศษกับพันธมิตรที่มาร่วมหลักสูตร บริษัทพันธมิตร เช่น ได้แก่ True / Huawei / Bitkub / EXIM Bank / P&G / Coro Brothers / DHL / iStudio by SPVI / SVOA และ BOL ร่วมให้ความรู้ ขอขอบคุณสถาบันการศึกษาทั้ง 110 สถาบันที่ร่วมโครงการกับกระทรวงพาณิชย์ตลอด 4 ปี ขอบคุณน้องๆ Gen Z ทุกคน ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ จะเป็นตัวช่วยให้เราได้หน่วยกิตด้วยขณะที่เรียนหลักสูตรนี้  ให้เราสร้างเงินให้ตัวเอง ให้ครอบครัวและเป็นแม่ทัพสร้างเงินให้ประเทศของเราต่อไปอนาคต” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ภายในงานมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รองอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนายบำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายก อบจ.พังงาเข้าร่วมด้วย


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชวนนักชิม-กูรูอาหารชื่อดังร่วมพิสูจนค์ุณภาพความอร่อย ของอาหารจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (จีไอ) ในงาน “สัมผัสสำรับ GI สุดประณีตด้วยเชฟมิชลิน” พร้อมด้วยพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ร้านวรรณยุค จากฝีมือของเชฟชาลี กาเดอร์ เจ้าของรางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย 

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีสินค้า GI  177 รายการ สินค้า GI เป็นตัวที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าและมีคุณค่าสำคัญสำหรับภาคการผลิต ตั้งเป้ามูลค่าสินค้า GI ในปี 66 ที่ 50,000 ล้านบาท 

          ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า การเพิ่มมูลค่าด้วยสินค้า GI สุดท้ายจะสะท้อนกลับไปที่ชุมชน ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปช่วยพัฒนาควบคุมคุณภาพและหาช่องทางการตลาดที่จะโปรโมทสินค้า วันนี้จะให้ขึ้นไปอยู่ในระดับมิชลิน ในงานนี้ได้นำนักชิมและกูรูด้านอาหารชื่อดังของเมืองไทย อาทิ เชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้รังสรรค์เมนูอาหารไทย ในการประชุม APEC 2022 เชฟเนตร เนตรอำไพ สาระโกเศศ กรรมการรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย มาดามตวง อุบลรัตน์ ช่อธีระพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับประเทศ คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง The Could คุณพีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ นักรีวิวอาหารชื่อดังเจ้าของเพจ กินกับพีท คุณชลทิพย์ ระยามาศ เจ้าของรางวัล Top Food Influencer จากเวที Influencer Asia 2015 ฯลฯ มาร่วม เปิดประสบการณ์ลิ้มรสอาหารไทยระดับ Fine Dining และถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้ชมในโลกออนไลน์ เผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารไทย สร้างการรับรู้สินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ ที่นำมามีผู้ติดตามรวมกันถึง 10 ล้านคน

          ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า ร้านวรรณยุค ร้านอาหารไทยระดับ Fine Dining โดยในงานนี่ได้นำวัตถุดิบ GI ถึง 23 รายการมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารสุดพิเศษที่ผสมผสาน ความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว เช่น น้ำพริกลงเรือจากไข่เค็มไชยา หมูย่างมะขามเทศเพชรโนนไทย ขนมเบื้องญวนไชโป้วโพธาราม ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลาย่าง ยำปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุงใส่มะพร้าวอ่อน เนื้อโคขุนโพนยางคำเค็ม ยำเนื้อมังคุดเขาคีรีวง เป็นต้น ชูรสด้วยกระเทียมศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ และพริกไทยจันท์


 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการจับคู่ธุรกิจผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายหวู หลิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) (Bank of China) ที่ห้องวิภาวดี บอลรูม A โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

          โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออก ผลไม้สดและแปรรูปของไทยดีขึ้นเป็นลำดับในปี 2565 ส่งออกผัก ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป รวมกันถึง 4.5 ล้านตัน มูลค่า 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (290,000 ล้านบาท)ที่สร้างเงินให้ประเทศ และเดือน ม.ค. - ก.พ. 2566 เราส่งออกผักผลไม้สดและแปรรูปไปแล้ว 2.82 แสนตัน สร้างเงินให้ประเทศ 13,637 ล้านบาท เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ตนมอบให้กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และยุทธศาสตร์การตลาด “เชิงรุกและเชิงลึก” ที่มอบหมายให้ทั้งการรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ ช่วง 3-4 ปีที่ตนมารับผิดชอบดูแล สามารถรักษาตลาดผลไม้เดิมและเพิ่มตลาดใหม่ได้อย่างมีศักยภาพในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯญี่ปุ่นและอีกหลายตลาด  ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ประมาณ 1,040,000 ครัวเรือน  ยกระดับราคาผลไม้ช่วง 4 ปีดีทุกปีในภาพรวม เฉลี่ยราคาผลไม้ยุคนี้ดีที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเราสามารถทำตลาดส่งออกล่วงหน้าได้เยอะมาก ช่วยให้มีช่องทางระบาย สร้างอนาคตในปีนี้ให้กับราคาผลไม้ช่วยเกษตรกรสร้างเงินให้ประเทศมหาศาลตกไปหาเกษตรกรต่อไป

          “วันนี้มี 4 สร้างกิจกรรมหลัก สร้างเงินให้ประเทศทันทีวันนี้ 2,300 ล้านบาท  กิจกรรมที่หนึ่ง ลงนาม MOU ซื้อขายล่วงหน้า 6 คู่ จีน ญี่ปุ่นและฮ่องกงมูลค่า 1,600 ล้านบาท กิจกรรมที่สอง จับคู่เจรจาธุรกิจคาดว่ายอดไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท มีผู้ส่งออกมาในงาน 84 บริษัทและผู้นำเข้า 57 บริษัท จาก 17 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สาธารณรัฐเช็ก อินเดีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวีเดน ไต้หวัน ดูไบ เวียดนาม สหราชอาณาจักรอังกฤษ บังคลาเทศ คาดว่าสามารถเซ็นสัญญาได้ไม่น้อยกว่า 385 คู่ กิจกรรมที่สาม การลงนามระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กับ Bank of China จะช่วยอำนวยความสะดวกผู้นำเข้าจีนหรือผู้ส่งออกไทย ในการชำระเงินทั้งลูกค้าไทยและจีนมากขึ้นด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน กิจกรรมที่สี่ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดตัวแบรนด์ไทยให้กับผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของไทยในตลาดโลกต่อไปโดยการทำสื่อโฆษณาหลากหลายรูปแบบ  และจะยังมีอีก 34 กิจกรรมที่เตรียมไว้ทั่วโลก สำหรับการประชาสัมพันธ์โฆษณาผลไม้ไทยและทำให้ส่งออกนำเงินสร้างเงินให้ประเทศไทยต่อไปผ่านผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยอีกหลายประเทศทั่วโลก” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

          ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า โครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยปีนี้เป็นครั้งแรกที่กลับมาจัดกิจกรรมแบบสถานที่จริง (On-Site) หลังจัดในรูปแบบออนไลน์มาถึง 2 ปี ในช่วงการระบาดของโควิด ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร รวมถึงพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศร่วมเป็นทัพหน้าในการทำการตลาดเชิงรุก เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ค้า ผู้ส่งออกไทย ได้ระบายสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตร เพิ่มโอกาสทางการค้า พร้อมสร้างชื่อเสียงให้สินค้าผลไม้ไทย และแสดงความก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์


 


ชมข้อมูล
image



          นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดน 140,166 ล้านบาท ลดลง 3.68% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนขยายตัว 1.86% คิดเป็นมูลค่า 23,649 ล้านบาท โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน (+40.58%) คิดเป็นมูลค่า 11,141 ล้านบาท

          1. การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนมกราคม 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 140,166 ล้านบาท ลดลง 3.68% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 71,667 ล้านบาท ลดลง 6.44% และการนำเข้ามูลค่า 68,499 ล้านบาท ลดลง 0.61% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2566 ทั้งสิ้น 3,168 ล้านบาท

          1.1 การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา 

เดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 81,555 ล้านบาท ลดลง 8.79% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 48,018 ล้านบาท ลดลง 10.05% และการนำเข้ามูลค่า 33,537 ล้านบาท ลดลง 6.92%

                 - มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 12,863 ล้านบาท (-15.96%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อื่นๆ และส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ อื่น ๆ

                 - สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 13,065 ล้านบาท (-6.06%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำตาลทรายขาว

                - เมียนมา มูลค่าส่งออก 10,650 ล้านบาท (-5.68%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำสำเร็จรูปอื่น ๆ และโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน

                -  กัมพูชา มูลค่าส่งออก 11,441 ล้านบาท (-11.16%) สินค้าสำคัญได้แก่ เครื่องดื่มอื่นๆ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ และน้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส

          1.2 การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ) เดือนมกราคม 2566 มีมูลค่ารวม 58,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 23,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.86% และการนำเข้ามูลค่า 34,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.31% โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก

                 - จีน มูลค่าส่งออก 11,141 ล้านบาท (40.58%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และลำไยสด

                 - สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 4,100 ล้านบาท (+23.96%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อื่นๆ

                 - เวียดนาม มูลค่าส่งออก 2,935 ล้านบาท (-35.71%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และอาหารปรุงแต่งอื่น ๆ

                 - ประเทศอื่น ๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ) มูลค่าส่งออก 5,474 ล้านบาท (-26.24%)

          2. การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ

          2.1 การผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 87 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 74 แห่ง

          2.2 การดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,469 ราย วงเงินรวม 6,211.2 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,440 ราย วงเงินรวม 6,127.8 ล้านบาท

 



*********************************

 


ชมข้อมูล
image



          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยานและกล่าวแสดงความยินดีในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แห่งชาติจีน คณะกรรมการเทศบาลเมืองเซินเจิ้น(CCPIT Shenzhen) ร่วมกับนายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูต(ที่ปรึกษา) ฝ่ายการพาณิชย์ของจีน ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ตนมอบให้กับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตลอดช่วง 4 ปี ที่รัฐบาลนี้มาบริหารแผ่นดิน วันนี้มี FTA ทั้งหมด 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และ mini FTA 6 ฉบับ ประกอบด้วย โคฟุ ปูซาน คยองกี เตลังกานา และของจีน 2 ฉบับ คือ ไห่หนานและกานซู่ ที่จะลงนามวันนี้กับเซินเจิ้นเป็นฉบับที่ 7  และถัดจากนี้ยังมีกับยูนนาน และที่กำลังจะประสบความสำเร็จคือ 5 รัฐของอินเดีย รวมกับสหราชอาณาจักรและปากีสถาน ถ้าประสบความสำเร็จจะเข้ามาช่วยเสริม FTA ในเชิงลึก 

          นโยบายที่ตนมอบให้กระทรวงพาณิชย์คือความร่วมมือเขตเสรีทางการค้าฉบับใหญ่หรือ FTA ไม่พอ เป็นภาพกว้าง ภาพรวม ถึงเวลาที่เราต้องใช้นโยบายเชิงลึก เชิงรุกทำการค้าการลงทุนร่วมกัน ลงลึกรายมณฑล รายรัฐ เพราะบางรัฐบางประเทศใหญ่กว่าประเทศไทยและบางมณฑลของจีนจีดีพีมากกว่าประเทศไทย และเซินเจิ้นมีจีดีพีเกือบเท่าไทย จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนที่เป็นรูปธรรมที่สุดรูปแบบหนึ่ง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งไทยและเซินเจิ้น เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของจีน รองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง   เป็นเมืองยุทธศาสตร์เชื่อมมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (Greater Bay Area) เป็นที่รวมของธุรกิจใหม่ ที่รวมของนวัตกรรม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจีน จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้มหาศาลในอนาคต

          “ปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเซินเจิ้น มีมูลค่า 868,000 ล้านบาท ตั้งเป้าร่วมกันหลังมี mini FTA ภายใน 2 ปีที่ (2566-2567)จะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ตั้งเป้าเพิ่มอีก 43,000 ล้านบาท ในปี 66-67 เป็น 910,000  ล้านบาท  จะเป็นกลไกสำคัญเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันเศรษฐกิจของไทยและจีนให้เจริญก้าวหน้าสืบไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

          โดยภายในงานเป็นการลงนามระหว่างอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(นายภูสติ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) กับประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แห่งชาติจีน คณะกรรมการเทศบาลเมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน(นายกู้ ตงจง) ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและจีนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก


ชมข้อมูล
สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์
Template : สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์
ข้อมูลที่น่าสนใจ
Master Template : ข้อมูลที่น่าสนใจ
จำนวนการเข้าชม : 289,428